ช่วงหลายวันมานี้คงได้เห็นข่าวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอให้มีการท่องอาขยานหลังเลิกเรียน ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษาไทยและมุ่งหวังให้เด็กได้มีสมาธิสนุกกับการเรียน แม้จะมีเสียงค้านจากหลายฝ่ายว่าการท่องอาขยานนี่มันคร่ำครึไปแล้ว แต่บางคนก็มองว่ามันมีประโยชน์อยู่ เราจึงลองค้นหาประโยชน์ของอาขยานดูสิ ว่าการท่องอาขยานยังจะไปด้วยกันได้กับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อยู่มั้ย หรือว่าท่องไว้เพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทยเพียงอย่างเดียว
ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แบ่งเป็น 3 ด้าน
1 Leaning skills, 2 Literacy skills, และ 3 Life skills
เราเริ่มที่ Leaning skills หรือทักษะการเรียนรู้ มิใช่เพียงแค่คิดเป็นหรือจดจำเก่ง แต่ทักษะการเรียนรู้ ตามศตวรรษ 21 นั้นจะต้องมีคิดเชิงวิพากษ์แก้ปัญหาเฉพาะเป็น (Critical thinking) มีความคิดสร้างสรรค์ นอกรอบการเรียนรู้ (Creativity) การรู้จักช่วยเหลือร่วมมือกันเป็นทีม (Collaboration) และ การแลกเปลี่ยนหรือถ่ายทอดความคิดซึ่งกันและกันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ (Communication) ทักษะการเรียนรู้ทั้งสี่นี้เรียกว่า The four C’s ที่จำเป็นต้องเรียนรู้ในยุคนี้ เมื่อเราพยายามนำการท่องอาขยานไปประยุกต์กับ The four C’s เพื่อหาประโยชน์และความจำเป็นของอาขยานแล้ว ก็ไม่พบความเชื่อมโยงใด ๆ นอกจากจะเอาการแต่งโคลงกลอนจัดเข้าในความคิดสร้างสรรค์ เอาเข้าจริงแล้วทักษะการเรียนรู้ทั้งสี่มักจะเกิดขึ้นจากความคิดและความร่วมมือกันมากกว่าจะใช้ทักษะจากการท่องจำแบบอาขยาน (คงไม่มีใครคิดเชิงวิพากษ์แบบอาขยาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบอาขยาน แต่ถ้ามีใครสักคนคิดอาขยานแบบครีเอทีฟอันนี้ก็ไม่ว่ากัน)
ทักษะถัดไป Literacy skills หรือทักษะการรู้หนังสือ ยุคนี้ไม่ใช่แต่รู้หนังสือแต่ต้องรู้และเท่าทันทั้งสามด้าน ได้แก่ สารสนเทศ การรับข้อมูลและแสวงหาข้อเท็จจริง (Information literacy) เท่าทันสื่อ ชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อที่ไม่เสนอข้อเท็จจริง (Media literacy) และ การเท่าทันเทคโนโลยี เพื่อรู้จักเทคโนโลยีเหล่านี้ทำงานอย่างไรมีหน้าที่อย่างไรและใช้มันให้เหมาะสม (Technology literacy) ดูไปแล้วการท่องจำอย่างอาขยานกับ Literacy skills ดูจะแยกเป็นโลกคู่ขนานอย่างกับ Mutiverse ในจักรวาล Mavel กันเลยนะครับ เพราะไม่ว่าใครๆเดี๋ยวนี้ก็เข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านสมาร์ทโฟนกัน ที่ถือเป็นทักษะที่ควรจะเป็นในยุคนี้ การจดจำเดี๋ยวนี้ก็จดกันบนแอพโน้ตเสียหมดแล้ว ถ้าใครจะจดจำเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวัน ลองจดจำด้วยวิธีท่องอาขยานดูมั้ยครับ
“ตอนบ่ายมีนัดน้อง นิตยา
ผมว่ามันก็เก๋ ๆ ดีนะครับ
ตอนเที่ยงต้องกินยา ก่อนข้าว
เบอร์โทรพี่สุภา อยู่บท ถัดไป
เดือนยี่ไปแดนด้าว แหละต้องจองตั๋ว”
ทักษะสุดท้ายคือ Life Skills หรือทักษะชีวิต
หลักๆ ก็มีด้วยกันห้าทักษะด้วยกัน อันแรก การยืดหยุ่น คือสามารถปรับเปลี่ยนแผนการไปตามสถานการณ์ไม่ยึดอยู่กันแผนเดิม (Flexibility) ความเป็นผู้นำ มีความเป็นผู้นำกล้าตัดสินใจขณะเดียวกันก็เข้าใจผู้อื่น (Leadership) ความคิดริเริ่ม มีความคิดกล้าทำสิ่งใหม่ๆที่ไม่เหมือนใคร (Initiative) ผลิตภาพ การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาความสามารถตนเองตลอดเวลา (Productivity) และทักษะทางสังคมสร้างเครือข่ายและเชื่อมต่อผู้คน (Social skills)
เมื่อเรามองกลับมาที่การท่องอาขยาน เนื้อเรื่องของบทอาขยานแต่ละเรื่องที่เราท่อง ล้วนมีแต่ค่านิยมที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็น รามเกียรติ์ ที่ทศกัณฑ์มีเมียหลายพันนาง หนุมานที่เป็นตัวเอกก็มีเมียหลายพันนาง หรือขุนช้างขุนแผน ที่เป็นละครน้ำเน่า แย่งผัวแย่งเมีย แม้กระทั่งพระอภัยมณี ก็มีเมียตั้ง 4 คน แต่ผู้ใหญ่กลับปลูกฝังให้เรารักเดียวใจเดียว อย่าดูละครน้ำเน่า แต่กลับมองข้ามไปเลยว่า เรื่องที่ผู้ใหญ่กำลังห้าม มันมีอยู่ในห้องเรียน และเป็นบทเรียนของเด็ก ๆ ในทุกวันนี้
ไม่ว่าประโยชน์ของมันจะมีไว้เพื่อให้นักเรียนจดจำหรือมีไว้เพื่อให้นักเรียนมีสมาธิ มันก็ดูหมดความจำเป็นทุกทางเมื่อเราควานหาประโยชน์จากมัน หรือให้อาขยานไปด้วยกัน“ให้ได้”ในยุคที่ทักษะของมนุษย์พัฒนาเกินกว่าจะถอยหลัง หรือว่าอาขยานจะควรค่าแค่ความเป็นไทยที่ต่อให้มันสามัญในคนไทยเท่าไหร่ มันก็ไม่มีวันสากลอีกต่อไป